ปวดหัวบ่อยต้องเช็ค ปวดหัวตำแหน่งไหนเป็นมากกว่าแค่ปวดหัว
ปวดหัวบ่อยต้องเช็ค ปวดหัวตำแหน่งไหนเป็นมากกว่าแค่ปวดหัว
อาการปวดหัว เป็นอาการคู่หูของมนุษย์ออฟฟิศที่เกิดได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าหากมีอาการปวดบ่อยครั้งจนเป็นอาการที่เกิดขึ้นประจำวัน เราไม่ควรปล่อยให้หายเอง เพราะอาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงกว่านั้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใจอาการปวดหัวได้อย่างถูกต้อง วันนี้เราจึงพาทุกคนมารู้จักสาเหตุ ประเภท ตำแหน่งที่ปวด รวมถึงวิธีการรักษาที่ไม่ใช่แค่กินยาแก้ปวดอีกด้วย
มาทำความรู้จักกับอาการปวดหัวกัน
อาการปวดหัวคืออาการความเจ็บปวดบริเวณศีรษะที่เกิดขึ้นจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและลำคอ ทำให้มีอาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงและอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไวต่อแสงและเสียง คลื่นไส้ เหนื่อยล้า โดยอาการปวดหัวในแต่ละตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า กะโหลก หน้าผาก หรือรอบ ๆ ศีรษะ มีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันไป
อาการปวดหัวมีกี่ประเภท
ประเภทของอาการปวดหัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
อาการปวดหัวชนิดปฐมภูมิ เป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นโดยไม่พบความผิดปกติเมื่อตรวจทางรังสีวิทยา ตัวอย่างเช่น
· ปวดหัวจากความเครียดหรือกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type Headaches) เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย อาการปวดมักเริ่มจากบริเวณท้ายทอย ร้าวมาที่ขมับสองข้างอาจพบร่วมกับอาการปวดไมเกรน หรืออาจมีอาการกดเจ็บหนังศีรษะร่วมด้วย โดยการปวดหัวชนิดนี้มีสาเหตุมาจากความเครียดสะสม วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้สายตามากเกินไปสามารถทำให้เกิดอาการปวดบริเวณเบ้าตา และคลื่นไส้ร่วมด้วย
· ปวดหัวไมเกรน (Migraine Headaches) เกิดจากการบีบและคลายตัวของหลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีผลมาจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ความเครียดและการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดเป็นอาการปวดแบบตุบ ๆ เป็นจังหวะ โดยสามารถเกิดบริเวณศีรษะข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ บางคนอาจมีอาการนำก่อนเกิดไมเกรน เช่น เห็นแสงวูบ ปวดแปลบบริเวณใบหน้า ทั้งนี้ไมเกรนพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเกิดร่วมด้วย
· ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches) เป็นอาการปวดหัว ชนิดรุนแรงที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท โดยอาการปวดหัวจะลามไปถึงกระบอกตา ขมับ หรือหน้าผาก และมักปวดช่วงเวลาเดิมของวัน ปวดเป็นชุด ๆ ติดต่อกันทุกวันหรือหลายสัปดาห์ โดยการปวดแต่ละครั้งอาจกินเวลา 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง และในหนึ่งวันสามารถเกิดอาการปวดได้มากกว่าหนึ่งครั้ง นอกจากนั้นมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำตาและน้ำมูกไหล เหงื่อออก รูม่านตาหด เปลือกตาตก หน้าแดง คลื่นไส้และอาเจียน
· ปวดหัวต่อเนื่องทุกวัน (New Daily Persistent Headaches: NDPH) เป็นอาการปวดหัวชนิดเรื้อรังที่พบได้น้อย เกิดขึ้นเองและยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาการปวดมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน รุนแรงและปวดนาน คงอยู่เป็นประจำทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อาจมีอาการปวดตุ้บ ๆ คลื่นไส้อาเจียนหรือตาสู้แสงไม่ได้ร่วมด้วย
อาการปวดหัวชนิดทุติยภูมิ คืออาการปวดหัวที่มีต้นตอมาจากโรคอื่นๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว ตัวอย่างเช่น
· ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (Sinus Headache) ไซนัสคือโพรงอากาศบริเวณใบหน้าและฐานของกะโหลกมีรูเปิดติดต่อกับช่องภายในจมูก เมื่อไซนัสติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เนื้อเยื่อในโพรงไซนัสอักเสบและบวมขึ้น ทำให้ไม่สามารถระบายของเหลวออกได้และเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก เจ็บเมื่อกดบริเวณที่ไซนัสตั้งอยู่ ปวดใบหน้าและปวดบริเวณหน้าผาก
· ปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration Headache) เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากการขาดน้ำที่ไม่ใช่แค่ดื่มน้ำไม่เพียงพอแต่รวมถึงอาการหลังท้องเสียหรืออาเจียน ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายจะลดลง เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้นและไหลเวียนได้ช้าลง ส่งผลให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจึงมีอาการปวดหัวเป็นบริเวณ ๆ ไป ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งบริเวณด้านหน้าหรือด้านหลัง และปวดมากขึ้นเมื่อก้มลงหรือหันหน้าอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นอาจยังมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น เหนื่อยล้า เวียนหัว กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะสีเข้มและปากแห้ง
· อาการปวดหัวจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (Medication-Overuse Headache or Rebound Headache) คือ อาการปวดหัวที่เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไปและเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวมากขึ้นในเวลาต่อมา อาการปวดหัวชนิดนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือนและมีประวัติการใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ เกิน 15 วันต่อเดือน โดยอาการปวดหัวประเภทนี้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวถี่ขึ้น ยาแก้ปวดที่เคยใช้ได้ผลกลับไม่ได้ผล ต้องเพิ่มขนาดยา อาจมีอาการปวดขณะนอนหลับจนต้องตื่นนอนเพราะอาการปวด เป็นต้น
อาการปวดหัวเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง
อาการปวดหัวนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ผู้คนประมาณ 96% มีอาการปวดหัวอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ผู้คนประมาณ 40% จากทั่วโลกมีอาการปวดหัวจากความเครียด และประมาณ 10% มีอาการปวดหัวไมเกรน โดยสาเหตุทั่วไปของการปวดหัวมีดังนี้
· การเจ็บป่วย การเจ็บป่วยในที่นี้รวมถึงการติดเชื้อและมีไข้ อาการปวดหัวยังพบได้บ่อยในภาวะต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อในลำคอ หรือการติดเชื้อในหู ในบางกรณีอาการปวดหัวอาจเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น ถูกตีที่หัวหรือมีวัตถุตกกระทบที่หัวอย่างรุนแรง
· ความเครียด ความเครียดและโรคซึมเศร้า การดื่มแอลกอฮอล์ การอดอาหาร และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวเช่นกัน
· สภาพแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่มือสอง กลิ่นฉุนจากสารเคมีหรือน้ำหอม สารก่อภูมิแพ้ อาหารบางชนิด มลพิษ เสียง แสงสว่าง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น โต๊ะเก้าอี้ทำงาน ที่ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรา
· พันธุกรรม - อาการปวดหัวไมเกรน มักเกิดขึ้นในครอบครัว เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เป็นไมเกรนจะมีคนในครอบครัวที่เป็นไมเกรน
อาการปวดหัวแบบไหนควรไปพบแพทย์
ปวดหัวขั้นรุนแรงจนเหมือนหัวจะระเบิดที่เกิดขึ้นทันที ตาพร่า คลื่นไส้อาเจียน อาการปวดแบบนี้ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองร่วมกับความดันโลหิตสูง
หากมีอาการปวดหัวรุนแรงร่วมกับอาการแขนขาอ่อนแรง แปลว่าผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในเนื้อสมอง เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์
รู้สึกปวดหัวรุนแรงพร้อมกับมีไข้ ขยับคอไม่ได้ อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง
อาการปวดหัวสุดขีด มีไข้ ร่วมกับอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัว และซึมลง มีความเสี่ยงที่สมองจะอักเสบ
การวินิจฉัยอาการปวดหัว
หากมีอาการปวดหัวบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ การพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องจะช่วยให้ดีขึ้น โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่าอาการเหล่านี้เกิดจากโรคหรือสาเหตุใด จะมีการสัมภาษณ์พูดคุยเกี่ยวกับอาการ การตรวจร่างกาย การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Brain CT) และอื่น ๆ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการตรวจวินิจฉัยตามดุลยพินิจ
แนวทางการรักษาอาการปวดหัว
การรักษาอาการปวดหัวนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การหาสาเหตุ ที่สามารถบรรเทาการเกิดอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อรู้สาเหตุของการปวดหัวแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสม เช่น รู้สึกปวดหัวเมื่อมีความเครียดหรือกังวล การจัดการความเครียดอย่างถูกต้องก็ช่วยลดอาการปวดหัวจากความเครียดได้ และที่สำคัญวิธีแก้อาการปวดหัว ไม่ได้มีแค่การรับประทานยา เพราะอาการปวดหัวมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ปวดหัว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นต้น
อาการปวดหัวเกิดได้กับทุกคน การมีความรู้และความเข้าใจจะทำให้เราป้องกันและรักษาการปวดหัวได้อย่างทันท่วงที สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
ตรวจสอบความถูกต้องของบทความโดย
นพ.ศิวัตม์ ล้วนรักษา
ศัลยแพทย์ตกแต่ง
SLC Hospital
แหล่งที่มาของข้อมูล
· MayoClinic
https://mayocl.in/45QSmxs
· WebMD
https://wb.md/3OZeyyi
· Clevelandclinic
https://cle.clinic/3OURfFR
https://cle.clinic/3Ri0ItZ
· โรงพยาบาลเมดพาร์ค
https://bit.ly/45rT9oL
· Pobpad
https://bit.ly/3L0D29k
· โรงพยาบาลนนทเวช
https://bit.ly/3PdJkVz
· โรงพยาบาลไทยนครินทร์
https://bit.ly/3PiNZpq
· โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3ElpYYt