ไม่รู้ไม่ได้แล้ว! กับสรรพคุณของขิงที่ช่วยรักษาโรคได้มากมาย
อาการไอ อาการเจ็บคอ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุก ๆ วัน โดยบางทีเราก็ไม่รู้เลยว่า สาเหตุหรือต้นตอของอาการนั้นมาจากอะไร เพราะช่วงที่ผ่านมามี ทั้งฝนตก โควิด หรือว่าอากาศแห้งฝุ่น PM2.5 เยอะ ซึ่งแน่นอนว่าอาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้เราไม่น้อย การทานน้ำขิงก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ช่วยได้ทั้งอาการเจ็บคอและอาการไอ อีกทั้งขิงยังเป็นยาและมีประโยชน์มากมาย วันนี้เราจึงจะพามาทำความรู้จักกับสมุนไพรโบราณที่มีทั้งคุณประโยชน์ แถมยังมีสรรพคุณรักษาโรค และมีสูตรทำเมนูสุดสดชื่นจากขิงอย่าง Ginger Ale มาฝากอีกด้วย
มารู้จักกับขิง
ขิงเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง เป็นพืชล้มลุก อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ข่า ขมิ้น มีลักษณะเป็นเหง้าหรือลำต้นใต้ดินที่มีกลิ่น รสชาติเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติเป็นยาได้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งนำมาประกอบอาหาร หรือนำมาทำเป็นยาสมุนไพรที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณก็ได้เช่นกัน
8 สรรพคุณและคุณประโยชน์จากขิง
· เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
ขิงมีน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า จินเจอร์รอล (Gingerol) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟีนอล มีส่วนกระตุ้นและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะมีหน้าที่ในการจับและยับยั้งอนุมูลอิสระ แม้ว่าโดยปกติแล้วร่างกายของเราสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้ แต่จะสร้างได้ในปริมาณที่จำกัดเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องบริโภคผัก ผลไม้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
· ป้องกันไข้หวัด
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าในขิงมีสาร จินเจอร์รอล (Gingerol) ที่นอกจากจะต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการทำลายและลดการสะสมของไวรัสในระบบทางเดินหายใจได้ ดังนั้นขิงจึงมีสรรพคุณในการต่อสู้กับโรคหวัดและอาการไข้ได้
· แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน
ขิงสามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถหรือเมาเรือ รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการจากการแพ้ท้องด้วยเช่นกัน
· ขิงช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร
เพราะขิงช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เนื่องจากในขิงมีสาร ซิงเจอโรน (Zingerone) ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย จึงสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง และอุจจาระเหลวได้
· ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ขิงมีส่วนช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยกระตุ้นการเผาผลาญกลูโคสในร่างกาย โดยช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อกับเซลล์ไขมันนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานมากขึ้นเป็นการเพิ่มการเผาผลาญให้กับร่างกาย
· ลดอาการท้องอืด
ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการระคายเคืองในลำไส้ ทำให้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง บรรเทาลงได้
· บรรเทาอาการปวดไมเกรน
สารจินเจอร์รอล (Gingerol) ยังมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและลดอาการปวดในร่างกายได้ เพราะสารตัวนี้จะช่วยลดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบ รวมถึงคนที่ปวดประจำเดือนด้วยเช่นกัน
· ลดกลิ่นปาก และ รักษาสุขภาพช่องปาก
เพราะสารต้านเชื้อแบคทีเรียในขิง มีส่วนช่วยในการลดกลิ่นปากและลดคราบพลัคแบคทีเรียในช่องปาก รวมถึงลดการปวดฟันและอักเสบได้อีกด้วย
ข้อควรระวังในการรับประทานขิง
เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีฤทธิ์ร้อน จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง เช่น ผู้ที่เหงื่อออกมาก หรือผู้ที่เพิ่งออกกำลังกายก็ควรรับประทานอย่างระมัดระวัง
อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสำหรับสตรีมีครรภ์ได้
ถ้าหากทานขิงในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เยื่อบุภายในช่องปากเกิดการอักเสบ จนเกิดเป็นร้อนในได้ ต้องทานในปริมาณที่พอเหมาะ
ขิง ช่วยยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ที่รับประทานยาสลายลิ่มเลือดควรงดบริโภคขิง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดห้อเลือดหรือมีเลือดออกได้
เติมความสดชื่นด้วยเมนูน้ำขิงมะนาวโซดา
อากาศร้อน ๆ ชาวออฟฟิศหลาย ๆ คน คงมีวิธีคลายร้อนที่แตกต่างกัน วันนี้เรามาแนะนำเมนู ขิงมะนาวโซดา เครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่น พร้อมลุยงานตลอดวัน แถมยังทำง่าย ได้ประโยชน์จากขิงและมะนาวไปเต็ม ๆ อีกด้วย
วัตถุดิบในการทำ ขิงมะนาวโซดา
ขิงขูดละเอียด 3/4 ถ้วย (ขิงแก่จะเผ็ดร้อน ขิงอ่อนจะไม่เผ็ดมากให้รสชาติที่นุ่มละมุน)
น้ำมะนาว 1 ถ้วยตวง
น้ำอุ่น 1 ถ้วยตวง หรือ 240 ml
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
น้ำแข็ง
โซดา 1 ขวด
วิธีการทำ
1. เริ่มต้นด้วยการต้มน้ำด้วยไฟปานกลาง จากนั้นเติมน้ำตาลลงไป คนให้เข้ากัน
2. เติมขิงขูดละเอียดลงไป คนให้เข้ากัน หลังจากนั้นปิดไฟและทิ้งไว้ให้เย็น 20 นาที
3. เติมน้ำมะนาวตามความเปรี้ยวที่ต้องการ
4. เทใส่แก้วเติมโซดา น้ำแข็ง และตกแต่งด้วยมะนาวฝานหรือใบมินต์ตามใจชอบ
แหล่งที่มาของข้อมูล
เว็บไซต์ Medthai
http://bitly.ws/GcAs
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
http://bitly.ws/GcAC
เว็บไซต์ Pobpad
http://bitly.ws/GcBW
· สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปัตตานี
http://bitly.ws/GcCa
Simply Recipe
http://bitly.ws/Gd6C