แชร์

ผู้ป่วย โรคไต กินอะไรได้บ้าง-อะไรที่ไม่ควรกิน หรือ ควรหลีกเลี่ยง!

อัพเดทล่าสุด: 9 มิ.ย. 2024
146 ผู้เข้าชม

ผู้ป่วย โรคไต กินอะไรได้บ้าง-อะไรที่ไม่ควรกิน หรือ ควรหลีกเลี่ยง!
ไต เป็นอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่เหมือนเครื่องกรองน้ำของร่างกาย คือ มีหน้าที่ช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ ทำให้ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังสามารถรักษาความสมดุลและทำงานได้อย่างเป็นปกติ แต่หากประสิทธิภาพของร่างกายถดถอยจนรุนแรงถึงขั้นเกิดอาการไตวายหรือภาวะไตล้มเหลว ก็มีโอกาสทำให้ระบบต่าง ๆ ล้มเป็นโดมิโนตามไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต้องเกิดสภาวะความผิดปกติขั้นรุนแรง การเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้กันว่าอาหารชนิดใดบ้างที่คนเป็นโรคไตสามารถบริโภคได้

 

ก่อนอื่นมารู้จักกับโรคไตกันก่อน

              โรคไต (Kidney Disease) คือสภาวะที่ไตถูกทำลาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง โดยไตมีหน้าที่ในการขับของเสียจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีนและรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย เช่น ควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือด การกำจัดของเสียออกจากเลือด การกำจัดยาและสารพิษออกจากร่างกาย การหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น เมื่อไตทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางและขาดวิตามิน รวมไปถึงปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงอีกด้วย

 

ประเภทของโรคไตที่พบบ่อย

              โรคไตมีหลายชนิด ซึ่งจะแยกย่อยออกไปตามลักษณะอาการและตำแหน่งที่มีปัญหา เช่น กรวยไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน เนื้อเยื่อไตอักเสบ และนิ่วในไต เป็นต้น ซึ่งอาการของผู้ป่วยโรคไตแต่ละชนิดก็จะมีอาการแตกต่างกันออกไปด้วย โดยถ้าหากแบ่งแยกตามกลุ่มอาการแล้วสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดที่พบได้มากที่สุด คือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง

·       โรคไตวายเฉียบพลัน  

คือ อาการที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาเพียงไม่มีชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง การได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา ภาวะไตวายเฉียบพลันเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากเข้าพบแพทย์ได้ทันเวลาก็จะสามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานปกติได้

·       โรคไตวายเรื้อรัง

คือ สภาวะที่เนื้อไตจะถูกทำลายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน โรคไตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง โรคไตที่เกิดจากเกาท์ เป็นต้น

 

ผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต

·       ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคนิ่ว เป็นต้น

·       ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคไต

·       ผู้ทีมีประวัติการใช้ยาที่เป็นพิษกับไตติดต่อกันเป็นเวลานาน

·       ผู้ที่มีความเครียดเป็นประจำ

·       ผู้ที่รับประทานรสจัดเป็นประจำ

·       ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย

·       ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่

·       ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

นอกจากนี้ผู้ที่เริ่มมีการเหล่านี้แสดงออกมาก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเช่นกัน

·       อาการบวม เริ่มจากการบวมที่หนังตาและหน้า ต่อมาจะบวมที่ขาและเท้าทั้ง  2 ข้าง สามารถทดสอบได้โดยการใช้นิ้วกดซักพักแล้วปล่อย หากปล่อยมือแล้วมีลักษณะบุ๋มลงไป ก็หมายถึงผู้ป่วยกำลังมีอาการบวมแน่นอน

·       อาการปวดหลัง ปวดเอว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไร โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง บั้นเอว บริเวณชายโครง ร้าวไปถึงท้องน้อย ปวดหัวหน่าวและอวัยวะเพศ บางรายอาจปวดเข้าไปในกระดูกและข้อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากไตทำงานหนัก

·       อาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ซีดมากกว่าปกติ

·       ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีสีส้มแดง ซึ่งเกิดจากมีเลือดปนออกมาเพราะเส้นเลือดฝอยในกรวยไตฉีกขาด ปัสสาวะเป็นฟอง เพราะมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ เพราะไตไม่สามารถควบคุมการขับปัสสาวะได้

·       ความดันโลหิตสูง ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเรนิน แองจิโอเทนซิน (Angiotensin) ที่ใช้ในการควบคุมระดับความดันโลหิตในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ เมื่อไตผลิตฮอร์โมนเรนิน แองจิโอเทนซินไม่ได้ ความดันโลหิตจึงสูงขึ้น

 

อาการของโรคไต

โรคไตแบ่งออกเป็น 5 ระยะซึ่งแบ่งตามค่ากรองไต ดังนี้

·       ระยะที่ 1 ค่า GFR > 90%

·       ระยะที่ 2 ค่า GFR = 60-89%

·       ระยะที่ 3 ค่า GFR = 30-59%

·       ระยะที่ 4 ค่า GFR = 15-29%

·       ระยะที่ 5 ค่า GFR < 15%

 

ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงออกมาแต่จะมาเริ่มแสดงอาการเมื่อไตได้รับความเสียหายมากแล้ว ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะสังเกตได้ดังต่อไปนี้

·       ปัสสาวะเป็นเลือด ปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำในขณะนั้น แต่ถ้าพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน อาจจะเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

·       ปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากการมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งมักเป็นอาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง

·       ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ผู้ที่ไตมีความผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถดูดน้ำกลับไปเก็บในกระเพาะปัสสาวะได้ปกติ จึงทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

·       มีอาการบวมของหน้าและเท้า

·       อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ

·       บางรายน้ำหนักลด แต่บางรายผู้ป่วยอาจจะตัวบวม น้ำหนักขึ้นก็ได้

·       คลำพบก้อนเนื้อ บริเวณไต

·       ผิวหนังจะซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย

·       เบื่ออาหาร คลื่นไส้

·       ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้

 

การวินิจฉัยโรค

การตรวจวินิจฉัยสำหรับโรคไตอย่างละเอียด สามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

·       ตรวจปัสสาวะ  หากเกิดภาวะผิดปกติจะตรวจพบโปรตีนและเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะ

·       ตรวจเลือด  หากเกิดภาวะผิดปกติ ปริมาณไนโตรเจน กรดยูริก (Blood Nitrogen Urea, BUN) และ ครีเอตินิน (Creatinine, Cr) ที่เป็นของเสียจากกล้ามเนื้อจะตกค้างในเลือดสูงกว่าปกติ และนำผลเลือดที่ได้นี้มาใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไตหรือ GFR (glomerular filtration rate) ในลำดับต่อไป

·       ตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และทำ CT Scan - ถ้ามีความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

             

อาหารที่คนเป็นโรคไตควรบริโภคและหลีกเลี่ยง

              การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรทำเป็นประจำ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้วมีข้อควรระวังมากขึ้น เพราะหากรับประทานอาหารผิดสัดส่วนก็จะไปกระตุ้นให้ไตทำงานหนักมากจนเกินไปทำให้ส่งผลเสียต่อระยะของโรคได้ ซึ่งอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยงแบ่งตามสารอาหารมีดังต่อไปนี้

·       โปรตีน โปรตีนที่เข้าสู่ร่างกายโดยเกินความจำเป็นจะกลายเป็นของเสียที่ทำให้ไตต้องทำงานอย่างหนักเพื่อขับออก ดังนั้นควรจะต้องบริโภคอย่างระมัดระวัง ผู้ป่วยโรคไตจึงควรรับประทานโปรตีนให้เหมาะสมกับระยะของโรค โดยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-5 ควรรับโปรตีน 0.81.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในขณะที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายควรได้รับโปรตีนเพียง 1.21.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทางที่ดีแนะนำให้ผู้ป่วยทาน โปรตีนคุณภาพสูง เช่น เนื้อปลาที่มีไขมันต่ำและโอเมก้าสูง ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง) นมไขมันต่ำ เป็นต้น ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ก็จะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณโปรตีนสูง เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักเกินไปนั่นเอง

·       คาร์โบไฮเดรต ควรบริโภคแป้งประเภทที่ปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น เส้นเซี่ยงไฮ้ แป้งมัน สาคู เป็นต้น ในทางกลับกันผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงแป้งที่มีโปรตีนอย่างข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว เส้นพาสต้า เป็นต้น

·       ไขมัน กรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลือง เป็นประเภทไขมันที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถบริโภคได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล ฟาสต์ฟูด ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และไขมันอิ่มตัวจากพืชและสัตว์ เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่อยู่ในเบเกอรี่ต่าง ๆ

·       โซเดียม แน่นอนว่าผู้ป่วยโรคไตไม่ควรบริโภคอาหารรสเค็มจัด อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรบริโภคอาหารโซเดียมต่ำ โดยควรจำกัดปริมาณโซเดียมให้อยู่ที่ 2-3 กรัม/วัน

·       โพแทสเซียม ผู้ป่วยควรบริโภคผักที่มีปริมาณโพแทสเซียมไม่สูง เช่น ฟักเขียว บวบ แตงกวา มะเขือยาว เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผักสีเขียวเข้มหรือสีเหลืองเข้ม ได้แก่ บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง

·       ฟอสฟอรัส อาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำอย่างเช่น ไข่ขาว ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ ส่วนอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงนั้น ผู้ป่วยไม่ควรรับประทาน เช่น ไข่แดง นมทุกรูปแบบรวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง เมล็ดพืช (เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน) รวมถึงอาหารที่ใช้ยีสต์และใช้ผงฟูเพราะมีฟอสเฟตสูง เช่น ขนมปังปอนด์ ซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เค้ก คุ้กกี้ เป็นต้น

·       กรดยูริก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนมาก เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ปีกสัตว์ น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ ยอดผักอ่อน (เช่น ยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง) แต่สามารถทานอาหารไขมันต่ำได้ เพราะอาหารที่มีไขมันสูงทำให้กรดยูริกนั้นขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะได้ไม่ดี

·       เครื่องเทศ ผู้ป่วยสามารถรับประทานเครื่องเทศและสมุนไพรที่ช่วยแต่งกลิ่นอาหาร ให้อาหารมีกลิ่นและรสชาติที่น่ารับประทานมากขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเจริญอาหารมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียม แต่อย่างไรก็ตามควรระวังและหลีกเลี่ยงเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง

·       น้ำ น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด หรือหากต้องการดื่มน้ำอื่น ๆ ควรเป็นน้ำที่ไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่มีปัสสาวะออกลดลงหรือมีอาการบวม จึงควรดื่มน้ำไม่เกิน 7001,000 ซีซี ต่อวัน เพราะความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตในระยะท้ายนั้นจะลดลง อาจกระตุ้นอาการบวมน้ำและน้ำท่วมปอดได้

 

การรักษาโรคไต

การรักษาโรคไตสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

1.        การรักษาตามอาการ  เช่น การรับประทานยา ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม และลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงยาที่มีผลให้ไตทำงานหนักขึ้น

2.        รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้               

o   การฟอกเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอาดโดยใช้ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

o   การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ

o   การปลูกถ่ายไต โดยการนำไตจากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต

 

วิธีป้องกันการเกิดโรคไต

·       ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้าตรวจไตปีละ 1 ครั้ง

·       รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด

·       ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

·       ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

·       ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด

·       หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

·       หลีกเลี่ยงการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้อักเสบ ยาชุด เป็นต้น

 

การเลือกรับประทานอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงปลอดโรค แม้แต่เมื่อร่างกายเกิดความสึกหรอขึ้นแล้วการควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ชะลอความเสื่อมของร่างกายให้ช้าลง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมานกับโรคร้ายที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต สามารถรับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากบริการ กรุงไทย-แอกซ่า แคร์คุณกว่าใคร เพื่อให้คุณมีข้อมูลในการตัดสินใจเข้ารับการรักษามากขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/care-coordination

 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลบางกรวย

http://bitly.ws/G4Qk

·       โรงพยาบาลพระราม9

http://bitly.ws/G4R7

http://bitly.ws/G4Rh

·       โรงพยาบาลเพชรเวช

http://bitly.ws/G4Rp

·       โรงพยาบาลศิครินทร์

http://bitly.ws/G4S3

·       โรงพยาบาลวิภาวดี

http://bitly.ws/G4Se

·       โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์

http://bitly.ws/G4SF

·       โรงพยาบาลวิชัยเวช

http://bitly.ws/G4Tt

·       โรงพยาบาลรามคำแหง

http://bitly.ws/G4UV

·       โรงพยาบาลพญาไท

http://bitly.ws/G4Vk

·       โรงพยาบาลไทยนครินทร์

http://bitly.ws/G4Vs

·       โรงพยาบาลศิริราช

http://bitly.ws/G4VF


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy