แชร์

ผื่นขึ้น! เป็นลมพิษตอนกลางคืน เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร

อัพเดทล่าสุด: 8 มิ.ย. 2024
189 ผู้เข้าชม

ผื่นขึ้น! เป็นลมพิษตอนกลางคืน เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร
 คุณเคยมีอาการเหล่านี้ไหม คัน ตุ่มขึ้น ผื่นขึ้น จนเกิดความรำคาญ และบางครั้งอาการเหล่านี้ก็จะมาในช่วงเวลากลางคืนหรือตอนที่อากาศเย็น ถ้าหากใช่ นั่นแปลว่าคุณอาจมีอาการลมพิษหรือผื่นลมพิษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะว่าอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โรคลมพิษเป็นอาการที่พบได้ในทุกวัยทุกเพศ โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่พักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันตก โดยวันนี้เราจะพาผู้อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลมพิษกัน

มารู้จักกับลมพิษ​

ลมพิษแท้จริงแล้วนั้นไม่ใช่โรค เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเราตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกที่มาส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ ซึ่งเป็นอาการที่มีผื่นที่เกิดขึ้นตามร่างกายและเกิดอาการคันตามตัว พบได้ในทุกเพศและทุกวัย แต่วัยที่พบได้บ่อยที่สุดจะช่วงวัยระหว่าง 20-40 ปี โดยลักษณะของผื่นลมพิษจะเป็นสีแดง เป็นตุ่ม กระจายตามส่วนของร่างกาย และจะหายภายใน 24 ชั่วโมง ลมพิษสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.        ลมพิษเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ลมพิษประเภทนี้เกิดจากการแพ้ต่าง ๆ เช่น ยา อาหารทะเล แมลง เกสรดอกไม้ โดยอาการของผู้ป่วยจะเกิดต่อเนื่องไม่เกิน 42 วัน หรือไม่เกิน 6 สัปดาห์

2.        ลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) ผู้ป่วยจะมีอาการของลมพิษเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเกิดต่อเนื่องกันมากกว่า 42 วัน หรือมากกว่า 6 สัปดาห์ โดยอาการลมพิษเรื้องรังจะเป็น ๆ หาย ๆ ตามความแปรปรวนภายในร่างกายหรือจากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาแอสไพริน, พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจไม่พบสาเหตุการเกิดก็เป็นได้

อาการของลมพิษ​

ผู้ป่วยที่มีอาการลมพิษจะมีตุ่มผื่นนูนและบวมแดงขึ้นตามตัว โดยลักษณะของผื่นจะเป็นปื้น ไม่เป็นขุย มีขอบหยักขึ้นรอบ ๆ ผื่นที่เห็นได้ชัดเจน ผื่นจะกระจายตัวตามร่างกายและทำให้เกิดอาการคัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นผื่นจะค่อย ๆ หายไป แต่บางคนก็จะมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง เป็นต้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์

สาเหตุของการเกิดโรคลมพิษ

·       การแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล ถั่ว รวมถึงสารหรือสิ่งแปลกปลอมในอาหาร เช่น สารกันบูด สีผสมอาหาร สารบอแรกซ์ เป็นต้น

·       ยา โดยการแพ้ยาบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดลมพิษได้

·       อิทธิพลทางกายภาพ ผื่นลมพิษอาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่น อุณหภูมิ อากาศ การโดนบีบรัดหรือกดทับ เหงื่อ เป็นต้น

·       การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือ เชื้อรา รวมถึงเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคบางชนิด เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ระบบภูมิคุ้มกัน มะเร็งชนิดต่าง ๆ ระบบต่อมน้ำเหลือง ระบบหลอดเลือด เป็นต้น

·       การแพ้สารเคมี โดยผื่นจะเกิดตรงที่ผิวสัมผัสกับสารที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายคน ๆ นั้น เช่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ใยสังเคราะห์ เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง  รวมถึงแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น เหล็กในของผึ้งหรือต่อ หรือการโดนสารเคมีที่ผลิตโดยแมลง

 

การวินิจฉัยอาการลมพิษ​

การวินิจฉัยการเป็นโรคลมพิษนั้น แพทย์จะทำการหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ โดยการสอบถามและซักประวัติเบื้องต้น แต่ถ้าพบว่า ผู้ป่วยมีอาการลมพิษบ่อยจนเกินไป แพทย์จะทำการทดสอบเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น

·       ตรวจเลือด เพื่อดูความเข้มข้นของเลือด ปริมาณเม็ดเลือดขาว

·       ตรวจอุจจาระ เพื่อหาพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้ายที่สามารถขึ้นไปอาศัยอยู่ใต้ผิวหนังจนมีอาการผื่นขึ้น

·       เอกซเรย์

·       ตรวจฟันหรือการหาสาเหตุการแพ้ที่ละเอียดลึกขึ้น

·       การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Testing, SPT)

·       เจาะเลือดเพื่อทดสอบอาการแพ้อาหาร (Food Allergy)

วิธีการรักษาอาการลมพิษ

1.        หลีกเลี่ยงสารก่ออาการลมพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้อีก เช่น ถ้าแพ้อาหารหรือยาชนิดนั้น ก็หลีกเลี่ยงอาหารและยาชนิดนั้น

2.        การรับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) โดยการจัดยาก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งถ้าเกิดว่าทานยาแก้แพ้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่ได้ผล ก็อาจจะรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้

·       ผู้ป่วยที่เป็นลมพิษเฉียบพลัน แพทย์อาจให้ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ด้วยปริมาณที่แพทย์กำหนด โดยผู้ป่วยจะหายภายใน 7-14 วัน แต่ถ้ายังไม่หายจนกินเวลานานถึง 6 สัปดาห์ แปลว่าผู้ป่วยอาจเป็นลมพิษเรื้อรัง

·       ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมพิษเรื้อรัง แพทย์จะทำการให้ยาอื่น ๆ นอกจากยาแก้แพ้ตามความเหมาะสมและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) หรือยาอื่น ๆ เพื่อยับยั้งการเกิดลมพิษ ให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถทานยาแก้เองได้ แต่แนะนำให้เลือกประเภทยาที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ผู้ที่แพ้ความเย็น อากาศเย็น หรือ แพ้น้ำ เหมาะกับยาแก้แพ้ที่ชื่อว่า ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) สำหรับคนที่ขับรถหรือต้องใช้สมาธิในการทำกิจกรรมบางอย่าง เหมาะกับยาแก้แพ้ที่ทานแล้วไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน (Loratadine), เซทิไรซีน (Cetirizine), เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) หรือ เดส-ลอราทาดีน (Desloratadine) เป็นต้น

 

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเกิดลมพิษ

1.        รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ทานยาให้ครบและตรงตามเวลา เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา

2.        ไม่แกะและเกา บริเวณที่มีอาการคัน

3.        ถ้าเกิดอาการคันมาก สามารถใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) ทาบริเวณที่เกิดอาการ เพื่อลดอาการระคายเคืองและอาการคัน

4.        หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ

5.        เลือกใช้ยาประเภทที่เหมาะสม ไม่รบกวนการทำงาน หรือ การใช้ชีวิต

6.        ดูแลผิวไม่ให้ผิวแห้งจนเกินไป โดยทาโลชั่นหรือครีมเพื่อบำรุงผิวที่ปราศจากน้ำหอมหรือสารเคมี

 

ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ

ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษพบประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยลมพิษระยะเฉียบพลัน และประมาณ 1 ใน 2 ของผู้ป่วยระยะเรื้อรัง โดยภาวะแทรกซ้อนได้พัฒนากลายเป็น แองจิโออีดีมา (Angioedema) ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่าลมพิษ โดยผู้ป่วยจะมีอาการบวมโตใต้ผิวหนังบริเวณตา หรือรอบปาก รู้สึกแสบร้อนและเจ็บบริเวณที่บวม หายใจลำบาก นอกจากนี้ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ก็เป็นอีกภาวะแทกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง เช่น น้ำมูกไหล เสียงแหบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว วูบเป็นลม อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เพราะฉะนั้นหากมีอาการลมพิษเรื้อรัง เป็นระยะเวลานาน ควรเข้ารับการรักษาเพื่อให้แพทย์ได้รักษาอย่างตรงจุด

 

ผื่นอาจเป็นสิ่งใกล้ตัวและเกิดขึ้นกับทุกคนได้บ่อย จนบางคนก็ปล่อยปะละเลย ส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่มีผื่นขึ้นและต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ สามารถใช้บริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม TeleHealth พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลศิครินทร์
http://bitly.ws/FjC4

·       โรงพยาบาลพญาไท
http://bitly.ws/FiPd

·       โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
http://bitly.ws/FjE3

·       เว็บไซต์ Medthai
http://bitly.ws/FjDF

·       เว็บไซต์ Pobpad
http://bitly.ws/FjE8


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy